หน้าแรก > สังคม

กรมวิทยาศาสตร์ฯ ยืนยันปลา สัตว์น้ำ และอาหารทะเลกินได้ เผยผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนปรอท ตั้งแต่ปี 2563-2566 พบยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย

วันที่ 8 กรกฎาคม 2566 เวลา 23:53 น.


กรมวิทยาศาสตร์ฯ ยืนยันปลา สัตว์น้ำ และอาหารทะเลกินได้ เผยผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนปรอท ตั้งแต่ปี 2563-2566 พบยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย

(7 ก.ค.66) นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลในโซเชียลมีเดียเรื่อง “เชยแล้ว กินปลาแล้วฉลาด สมัยนี้ กินปลาแถมปรอท” พบการสะสมปรอทในปลาทะเลและปลาน้ำจืดใน 8 พื้นที่ ได้แก่ จ.สมุทรปราการ สมุทรสาคร ระยอง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา เลย ขอนแก่น และจันทบุรี พบปริมาณการปนเปื้อน ของปรอทเกิน 24 เท่าจากมาตรฐาน จนอาจนำมาสู่มินามาตะโมเดลในประเทศไทย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้ผู้บริโภค มีความวิตกเรื่องความปลอดภัยจากการบริโภคสัตว์น้ำจากแหล่งดังกล่าวนั้น

สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะห้องปฏิบัติการอ้างอิงของประเทศและอาเซียน ด้านการตรวจวิเคราะห์คุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้รวบรวมข้อมูลผลตรวจวิเคราะห์ปรอททั้งหมดในปลา สัตว์น้ำ และอาหารทะเล ตั้งแต่ปี 2563 - 2566 จำนวน 108 ตัวอย่าง พบปริมาณการปนเปื้อน อยู่ระหว่าง 0.001 - 0.840 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งไม่เกินค่าปนเปื้อนสูงสุดทุกตัวอย่าง โดยมีค่าเฉลี่ยและค่ามัธยฐาน 0.0025 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ 0.0010 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ เมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ย พบว่าปริมาณการได้รับสัมผัสจากปริมาณอาหารที่บริโภค

สำหรับประชากรไทย ช่วงอายุ 3 - 5.9 ปี เฉลี่ยเท่ากับ 0.0004 µg/kg bw/week และเปรียบเทียบกับค่าอ้างอิงปริมาณความเป็นพิษของสารปรอทต่อระบบประสาทในเด็กที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ค่าความปลอดภัย เท่ากับ 1.6 µg/kg bw/week จะเห็นว่าปริมาณ การได้รับสัมผัสยังคงต่ำกว่าค่าความปลอดภัยมาก โดยน้อยกว่า 4,000 เท่า แสดงว่าการบริโภคปลา สัตว์น้ำ และอาหารทะเลของเด็กไทยและคนไทยยังคงมีความปลอดภัย

จากผลการตรวจวิเคราะห์สารปรอททุกตัวอย่างมีค่าไม่เกินค่ามาตรฐาน แสดงให้เห็นว่าปลา สัตว์น้ำ และอาหารทะเลของไทย ยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ประชาชนสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563 ออกตามความพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน กำหนดให้มีปริมาณสารปรอทได้ไม่เกิน 0.5 - 1.7 มก./กก. ขึ้นอยู่กับชนิดของปลาและชนิดของอาหาร

อย่างไรก็ตามสารปรอทหรือโลหะหนักสามารถปนเปื้อนในอาหารได้ แม้ผ่านการปรุงด้วยกระบวนการต่างๆ ก็ไม่สามารถลดการปนเปื้อนได้ จึงควรเลือกบริโภคปลากินพืช เช่น ปลาสลิด ปลานิล ปลาจีน และบริโภคปลาผู้ล่าระดับบนของห่วงโซ่อาหาร ที่มีชีวิตยืนยาวกว่าชนิดอื่น ซึ่งอยู่ใน เช่น ปลาดาบ ปลาทูน่า แต่พอเหมาะหรือน้อยลง เพื่อลดโอกาสการได้รับสัมผัสการปนเปื้อนปรอทหรือโลหะหนัก และเลี่ยงการกินแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะปลาน้ำจืดบางชนิด เพราะเสี่ยงเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับได้

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม