หน้าแรก > สังคม

สภา กทม. ติดตามแนวทางการปรับปรุงทางเท้าให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน คาดปีนี้เห็นผลชัดเป็นรูปธรรมกว่า 100 กิโลเมตร

วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เวลา 15:45 น.


5 ก.ค.2566 ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566 วันนี้ นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท ได้ยื่นกระทู้ถามสด เรื่อง การใช้แบบมาตรฐานทางเท้าของกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันทางเท้าของกรุงเทพมหานครในแต่ละพื้นที่เขตได้ปรับปรุงเป็นระยะโดยแต่ละพื้นที่ดำเนินการโดยไม่มีมาตรฐานเดียวกัน ชำรุดบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นชั้นทรายและวางอิฐทับจึงทำให้เกิดความเสียหายบ่อยครั้งเมื่อฝนตก จึงสอบถามมาตรฐานทางเท้าของ กทม. รวมถึงสอบถามถึงแนวทางการดำเนินการกรณีทางเท้าซึ่งมีจุดเว้นทางเข้าบ้านหรือสถานประกอบการซึ่งไม่เอื้อต่อผู้พิการและผู้ที่สัญจรผ่านไม่ได้รับความสะดวก เนื่องจากมีระดับที่ต่างกัน “ทางเท้าที่ไม่สะดวกเกิดขึ้นในพื้นที่กทม.ทุกแห่ง อยากให้ฝ่ายบริหารคำนึงถึงประชาชนที่ไม่ได้ใช้รถยนต์ หากอยากส่งเสริมให้ประชาชนเดินก็ควรมีทางเท้าที่สะดวกให้กับประชาชน” ส.ก.พีรพล กล่าว

ด้าน รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชี้แจงว่า ขณะนี้กทม.ได้กำหนดแบบมาตรฐานทางเท้าพ.ศ.2565 จำนวน 3 รูปแบบ คือ

1. มาตรฐานทางเท้าคอนกรีตพิมพ์ลาย 

2.มาตรฐานทางเท้ากระเบื้องซีเมนต์ปูพื้น 

3.มาตรฐานทางเท้าแอสฟัลท์คอนกรีตพิมพ์ลาย

ในส่วนของการซ่อมแซมระยะสั้น อาจต้องใช้รูปแบบเดียวกับของเดิมซึ่งจะทำให้ต่างจาก 3 รูปแบบนี้ แต่หากเป็นการทำทางเท้าใหม่จะเป็นไปตาม 3 รูปแบบดังกล่าว ในเรื่องของทางเชื่อมทางตัดผ่านทางเท้าเ ป็นอีกเรื่องที่เราให้ความสำคัญ กรณีทางเข้าออกถนนซอยจะมีมาตรการ การลดระดับทางเท้า กรณีการเชื่อมเข้าอาคารต้องให้เสมอเรียบทางเท้าต้องไม่เดินสะดุด ซึ่งได้ออกมาตรฐานมาเพื่อให้หน่วยงานได้นำไปปฏิบัติมาตั้งแต่เดือน พ.ย.แล้ว นอกจากนี้เรื่องการดำเนินการปลูกต้นไม้บนทางเท้าของ กทม.ก็อยู่ระหว่างการทบทวนเช่นเดียวกัน หากเขตทางเท้าไม่เพียงพอการปลูกต้นไม้อาจไม่เหมาะสมจึงต้องพิจารณาอีกครั้ง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องทางเท้าเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ โดยสำนักการโยธามีแผนการดำเนินการปรับปรุง 17 เส้นทางหลัก และได้เตรียมจัดสรรงบประมาณไว้เพื่อปรับปรุงทางเท้าทุกเขตเรียบร้อยแล้ว ซึ่งภายใน 1 ปีจะเห็นผลที่เป็นมาตรฐานอย่างเป็นรูปธรรม ในปีนี้คาดว่าจะเห็นอย่างน้อย 100 กม.ขึ้นไป ขอให้สัญญากับทางสภากทม. ทั้งนี้ทางเท้าทั้งหมดในกทม.มีกว่า 3,000 กม. การซ่อมแซมจึงจำเป็นต้องจัดลำดับตามความสำคัญ ซึ่งกทม.จะเร่งรัดดำเนินการทันที 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม