วันที่ 2 กรกฎาคม 2566 เวลา 18:56 น.
สำหรับขั้นตอน การขนย้าย "พลายศักดิ์สุรินทร์" ได้เริ่มการเคลื่อนย้ายในคืน วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 เวลา 22.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศศรีลังกา โดยการนำช้างเดินเข้ากรง และรถเครนขนาดใหญ่ยกกรงไปไว้บนรถเทรลเลอร์ลากพ่วง และเริ่มขนย้ายทางรถยนต์จากสวนสัตว์ ไปยังสนามบิน "บันดารานายาเก" กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา และดำเนินการทางศุลกากร ก่อนเคลื่อนย้ายกรงช้าง เข้าไปในเครื่องบิน ซึ่งขณะปฏิบัติการมีเจ้าหน้าที่ร่วมดำเนินการประมาณ 40 คน
จากนั้นเวลา 07.30 น. วันที่ 2 กรกฎาคม 2566 เครื่องบินแบบ อิลยูชิน อิล-76 เริ่มออกเดินทาง สู่สนามบินเชียงใหม่ ประเทศไทย ใช้เวลาในการบินประมาณ 5-6 ชม. เนื่องจากต้องใช้เพดานบินและความเร็วต่ำ โดย พลายศักดิ์สุรินทร์ อยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของควาญช้าง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากสถาบันคชบาลแห่งชาติฯ จำนวน 3 คน และ หัวหน้าชุดควาญศรีลังกา จำนวน 1 คน ที่ช่วยปฏิบัติหน้าที่ในการร่วมเดินทางดูแลช้างบนเครื่องบินขนส่ง ซึ่งการเคลื่อนย้ายช้างครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรก ในการขนย้ายสิ่งมีชีวิต ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยบินมา
โดยระหว่างการเดินทาง ภาพจากกล้องวงจรปิดในกรง “พลายศักดิ์สุรินทร์” บนเครื่องบิน ชี้ให้เห็นว่า พลายศักดิ์สุรินทร์ มีอาการนิ่งสงบ ในฝั่งของประเทศไทย ก็มีการเตรียมความพร้อมในการรอรับ พลายศักดิ์สุรินทร์ โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเดินทางถึงท่าอากาศยาน นานาชาติเชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบการเตรียมความพร้อมทุกด้าน ที่จะนำพลายศักดิ์สุรินทร์ ขึ้นรถเทรลเลอร์ ขนาดใหญ่ นำไปส่ง ยังสถาบันคชบาลแห่งชาติ จังหวัดลำปาง
โดยหากไม่มีอะไรผิดปกติ ก็จะนำขึ้น พลายศักดิ์สุรินทร์ ขึ้นรถเทรลเลอร์ที่เตรียมไว้ เดินทางไปยังสถาบันคชบาลทันที แต่ถ้าช้าง มีอาการอ่อนเพลีย หรือว่ายังไม่พร้อมเดินทาง จะต้องให้สัตวแพทย์เป็นผู้วินิจฉัย ร่วมกับสัตวแพทย์ที่มาพร้อมเครื่อง โดยทางสถาบันคชบาลได้เตรียมพื้นที่ในการฟื้นฟูเอาไว้แล้ว คาดว่าจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ และหลังจากฟื้นฟูครบ 1 เดือนแล้ว พลายศักดิ์สุรินทร์ จะสามารถออกมาอยู่ปะปนกับช้างเชือกอื่น ๆ ที่อยู่ในสถาบันคชบาลได้
หลังจากนั้นเวลาประมาณ 14.00 น. พลายศักดิ์สุรินทร์ เดินทางถึงประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ได้ให้น้ำ-ฉีดน้ำคลายร้อน แก่พลายศักดิ์สุรินทร์ ก่อนเคลื่อนย้ายไปสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ ใน อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง โดยคาดว่าจะถึงสถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง ในวันนี้ (2 ก.ค.) เวลาประมาณ 17.30 น. โดยมีทีมสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และควาญช้างของออป. ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องมีการกักกันโรคภายใน 30 วัน มีการสังเกตอาการของช้างว่ามีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ดีพอหรือไม่ ในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ของประเทศไทย
สำหรับประวัติของ “พลายศักดิ์สุรินทร์ นั้น ปัจจุบันอายุ ประมาณ 30 ปี รัฐบาลไทยส่งมอบให้ประเทศศรีลังกา เพื่อเป็นทูตสันถวไมตรี เมื่อปี 2544 พร้อมกับ “พลายศรีณรงค์ตามที่ประเทศศรีลังกา ร้องขอ เพื่อนำไปฝึกใช้ในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในงานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของศรีลังกา ที่มีการจัดอย่างต่อเนื่องมากว่า 270 ปี โดย “พลายศักดิ์สุรินทร์ นับเป็นช้างเชือกที่ 3 ที่ไทยส่งให้ศรีลังกา ไปเป็นทูตสันถวไมตรี ต่อจาก “พลายประตูผา” ที่เป็นเชือกแรกเมื่อปี 2523
ทั้งนี้ “พลายศักดิ์สุรินทร์ เป็นช้างที่มีคชลักษณ์โดดเด่น ตรงตามความต้องการ ของศรีลังกาเพื่อใช้ในงานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งหลังจากถูกส่ง ไปอยู่ศรีลังกา รัฐบาลศรีลังกาได้โอนกรรมสิทธิ์ช้างเชือกนี้ให้กับ “วัดคันเดวิหาร” เป็นผู้รับช่วง ดูแลต่อ เพื่อให้ทำหน้าที่ ในขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ในงานแห่พระธาตุประจำปี ของศรีลังกา ซึ่งมีเฉลี่ย 30 ครั้ง ต่อปี
โดยต่อมาปี 2565 มีการร้องเรียนและตรวจสอบพบว่า “พลายศักดิ์สุรินทร์ ถูกใช้งานอย่างหนักและมีสภาพความเป็นอยู่ ที่ย่ำแย่ รวมทั้งจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาล อย่างเร่งด่วน จึงนำไปสู่กระบวนการ..ให้ความช่วยเหลือและนำตัวกลับมารักษาที่ประเทศไทยในที่สุด
ขอบคุณภาพจาก : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน