หน้าแรก > สังคม

"สภาวิศวกรรมสถานฯ" แถลงสาเหตุ ทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง​ดูดขาขาด คาดมีวัสดุเข้าไปขัดแผ่นหวี

วันที่ 30 มิถุนายน 2566 เวลา 16:47 น.


จากเหตุการณ์ "ทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง​"  ดูดขาผู้โดยสารจนขาด ทำให้หลายคนหวาดกลัว ซึ่งทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.มีการออกแถลงการและพร้อมรับผิดชอบดูแลผู้เสียหายทุกกรณี 

30 มิถุนายน 2566 นายบุญพงษ์​ กิจวัฒนาชัย​ ที่ปรึกษาคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมเครื่องกล​ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย​ ในพระบรมราชูปถัมภ์​ (วสท.)​ แถลงผลการลงพื้นที่ไปร่วมตรวจสอบ "ทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง​" ที่เกิดอุบัติเหตุจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ​ โดยในเบื้องต้นพบมีการแตกหักของแผ่นหวีและในบางชิ้นส่วนของหวีแตกหักลักษณะเป็นรูปโค้งของวงกลม​ ซึ่งอาจเกิดจากการขัดกันระหว่างวัสดุสองชนิด​ในช่วงเกิดเหตุ​ และพบว่าแผ่นทางเลื่อนที่หลุดอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่บิดงอ​ หล่นอยู่ใต้ท้องของกล่องทางเลื่อนอัตโนมัติเป็นระยะประมาณ​ 10 เมตรจากจุดเกิดเหตุ​

ลักษณะแผ่นพื้นหลุดดังกล่าวบ่งชี้ว่าน็อตที่ล็อกแผ่นพื้นกับรางเลื่อนขาด​ และจากข้อมูลของการบำรุงรักษา​ ซึ่งผู้ทำการตรวจความปลอดภัยของระบบบันไดเลื่อนทั้งหมด​ รวมถึงทางเลื่อนอัตโนมัติได้รับรองความสมบูรณ์​ของอุปกรณ์ไว้แล้ว​ นอกจากนี้การใช้งานเจ้าหน้าที่รักษาจะต้องตรวจสอบการทำงานของระบบก่อนการเปิดใช้งานทุกวัน​ จึงไม่เป็นเหตุให้ระบบบันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติมีการทำงานที่ผิดปกติ​ ดังนั้นจากการสันนิษฐานการเกิดอุบัติเหตุ​ เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากการที่มีวัสดุตกหล่นซึ่งอาจเป็นล้อของกระเป๋าเดินทางไปขัดอยู่บริเวณปลายหวี​ เมื่อล้อของกระเป๋าเดินทางไม่สามารถเคลื่อนตัวต่อไปได้​ จึงเกิดการขัดตัวจนปลายหวีแตกหักและหลุดเข้าไปในระบบทางเลื่อนอัตโนมัติ​ เป็นเหตุให้ไปง้างแผ่นพื้นทางเลื่อน​ เกิดการกระดกจนน็อตที่ล็อกแผ่นพื้นกับรางเลื่อนขาดทำให้มีช่องว่างกว้างเพียงพอที่จะทำให้ขาของผู้บาดเจ็บที่กำลังก้าว​หล่นลงไปในช่องว่าง​ ในขณะที่ทางเลื่อนยังทำงานตามปกติจึงทำให้เกิดการบาดเจ็บ​ แต่ทั้งนี้ถึงจะลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้น​ ดูจุดเกิดเหตุ​ แต่ยังต้องหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมให้ละเอียด 

วสท. ขอให้ประชาชนไม่ต้องเกิดการวิตกเนื่องจากทั้งบันไดเลื่อน​ และทางเลื่อนอัตโนมัติในไทยมีมาตรฐานสากลออกแบบมาเหมือนกันตามมาตรฐานสากล​ หรือเรียกว่า​ EN115 (อีเอ็น​ 115) บันไดเลื่อน​ ทางเลื่อนอัตโนมัติ​ ต้องผ่านการนำเข้าไม่สามารถนำมาประกอบเองได้​ ชิ้นส่วนมีความละเอียดอ่อน​ ช่างทั่วไปที่ไม่ได้รับการฝึกฝนไม่สามารถทำได้​ ขณะเดียวกันได้อธิบายหลักการและการทำงารของ ทางเลื่อนอัตโนมัติ​ บันไดเลื่อนอัตโนมัติ​ว่าอุปกรณ์ทั้งสองคล้ายกัน  แตกต่างชัดเจนอยู่สองเรื่อง​ คือ​ ทางเลื่อนจะเป็นแผ่นเรียบในแนวราบหากมุมทางเลื่อนสูงเกินจากแนวพื้น​ 11 องศาจะยืนไม่ได้จะต้องทำให้พื้นเป็นบันไดเลื่อน​ ส่วนการรับน้ำหนัก​ ทางเลื่อนถูกออแบบมาให้​ 1 แผ่นรองรับน้ำหนักได้​ 160 กิโลกรัม​ ขณะที่บันไดเลื่อนออกแบบให้รับน้ำหนักได้​ 75 กิโลกรัมต่อคน​ 
พร้อมย้ำว่า​ เหตุการณ์ "ทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง​" แม้ว่าจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย​ที่รุนแรง​ ก็ถือเป็นอุทาหรณ์บทเรียนนำไปปรับปรุงไม่ให้เกิดซ้ำ​ นอกจากเรื่องของอุปกรณ์ที่ประกอบในชิ้นส่วนทางเลื่อน​ บันไดเลื่อนอัตโนมัติจะได้มาตรฐานสากล​ บางรุ่นมีการเพิ่มระบบความปลอดภัยใหม่ๆเข้ามา​

ทั้งนี้ประชาชนจะต้องระมัดระวังในการใช้บันไดเลื่อน​หรือทางเลื่อนอัตโนมัติ โดยจะ​ต้องมีสติ​ เลี่ยง​ หรือ​ งดการใช้อุปกรณ์สื่อสารระหว่างใช้ทางเลื่อน​ บันไดเลื่อนและขอให้จับราวบันไดเพราะหากเกิดเหตุขึ้นจะลดความรันแรงลงได้​ ที่สำคัญให้สังเกตเสียงของบันได​ และทางเลื่อน​ หากสั่นแรงผิดปกติควรหลีกเลี่ยงการใช้งานทุกกรณี
 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม