หน้าแรก > สังคม > สุขภาพ

องค์การอนามัยโลก เฝ้าระวังไวรัสตัวใหม่ หวั่นมาแพร่ระบาดแทนเชื้อโควิด-19

วันที่ 30 มิถุนายน 2566 เวลา 12:24 น.


30 มิ.ย.2566 เพจศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า “ไวรัสแลงยา” หนึ่งในสมาชิกกลุ่มไวรัสเฮนิปา ที่อาจมาแทนที่โควิด-19

ดร.เอเรียล ไอแซกส์ และดร.หยู ชาง โลว์ นักวิจัยจาก School of Chemistry and Molecular Biosciences แห่ง "มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ " ประเทศออสเตรเลียได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยลงในวารสารวิชาการทางการแพทย์ “Nature Communications” ในเดือนนี้ (มิถุนายน 2566) ชี้ให้เห็นว่ามีความสุ่มเสี่ยงสูงมากที่เชื้อ“ไวรัสแลงยา ในกลุ่มเฮนิปา(Langya henipavirus หรือ LayV,)” ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก กำลังจะมีการแพร่ระบาดใหญ่ในมนุษย์ แม้ว่าขณะนี้ยังไม่พบการแพร่ระบาดระหว่างคนสู่คนก็ตาม แต่กลับพบการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนของไวรัสแลงยาและกลุ่มสมาชิกถี่ขึ้นเป็นลำดับ และหากเกิดการกลายพันธุ์เพียงไม่กี่ตำแหน่งบนจีโนมที่ส่งผลให้ส่วนหนามของไวรัสเข้าจับกับเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้นจะช่วยให้ไวรัสแลงยาสามารถก้าวข้ามจากสัตว์มาระบาดในหมู่คนได้ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับไวรัสโคโรนา 2019 ในอดีต ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดีได้เตรียมพร้อมตรวจสอบรหัสพันธุกรรมอย่างรวดเร็ว (mass array genotyping) เพื่อตรวจจับไวรัสแลงยาดังกล่าวจากสิ่งส่งตรวจแล้ว

องค์การอนามัยโลก และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกคาดคะเนว่าภัยคุกคามโรคติดเชื้อที่จะระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) กับมนุษยชาติครั้งต่อไปนอกเหนือจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่หรือไวรัสไข้หวัดนกแล้ว อาจเป็นกลุ่มไวรัสเฮนนิปา อันประกอบไปด้วยไวรัส แลงยา (Langya) โม่เจียง (Mòjiāng) นิปาห์ (Nipah) และเฮนดรา (Hendra) ฯลฯ ซึ่งจัดอยู่ในตระกูล Paramyxoviridae

ไวรัสแลงยาเป็นเชื้อโรคไวรัสติดต่อจากสัตว์มาสู่คน พบครั้งแรกในชาวไร่จำนวน 35 คนในมณฑลซานตงและเหอหนานของประเทศจีน ในปี 2565  

ไวรัสโม่เจียงที่ถูกค้นพบในปี 2555 ในหนูในเหมือง Tongguan ในเมืองโม่เจียง ประเทศจีน คนงานเหมืองหกคนป่วยด้วยอาการคล้ายโควิด และสามคนเสียชีวิต ที่น่าแปลกคือพบไวรัสโคโรนาจากค้างคาวที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 อยู่ในเหมืองนั้นด้วย

ไวรัสนิปาห์ เกิดขึ้นในมาเลเซียและสิงคโปร์ในปี 2542 ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเกือบ 300 รายและเสียชีวิตมากกว่า 100 ราย มีการบันทึกการระบาดเกือบทุกปีในบางส่วนของเอเชียตั้งแต่นั้นมา ส่วนใหญ่ในบังกลาเทศและอินเดีย

ไวรัสเฮนดรา พบการระบาดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 ในเมืองเฮนดรา ชานเมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีม้า 13 ตัวและครูฝึกเสียชีวิต 1 คน

ไวรัสโม่เจียง เฮนดรา และ นิปาห์ ผู้ติดเชื้อจะมีอัตราการตายสูงกว่า 40-70% เป็นไวรัสที่สายจีโนมเป็น “อาร์เอ็นเอ” เมื่อติดเชื้อจะทำให้เกิดไข้และอาการระบบทางเดินหายใจอักเสบรุนแรง และอาจนำไปสู่โรคปอดบวมถึงแก่ชีวิตได้ เช่นเดียวกับโควิด-19 

ไวรัสแลงยาพบมีการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น มนุษย์ สุนัข แพะ และคาดว่าสัตว์รังโรคดั้งเดิมของมันคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กคล้ายหนู มีปากยาวแหลม(shrews) ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตเนื่องจากไวรัสแลงยาเป็นไวรัสอุบัติใหม่และยังไม่พบว่าไวรัสแลงยาสามารถแพร่เชื้อติดต่อจากคนสู่คน

นักวิจัยเตือนว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่ไวรัสแลงยาแพร่ระบาดมาสู่ผู้คน และมันจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
ไวรัสตัวนี้ค่อนข้างใหม่ (สำหรับมนุษย์) ที่อาจก่อให้เกิดภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลก และมีความคล้ายคลึงกันอย่างน่ากังวลเช่นเดียวกับไวรัสโคโรนาที่มีการระบาดในมนุษย์ไปทั่วโลก

ดร.เอเรียล ไอแซกส์ และทีมวิจัยได้ค้นพบโครงสร้างของโปรตีนบนหนามของไวรัสที่เรียกว่า “ฟิวชันโปรตีน”

หน้าที่ของฟิวชันโปรตีนคือทำหน้าที่เสมือนเป็นสะพานนำพาไวรัสแลงยาเข้าสู่เซลล์ โดยหลอมรวมผนังหุ้มของไวรัสเข้ากับเยื่อหุ้มเซลล์ของผู้ติดเชื้อ ทำให้ไวรัสสามารถเข้าไปภายในเซลล์และเริ่มการแบ่งตัวภายในเซลล์ติดเชื้อได้

ทีมวิจัยได้ศึกษาโครงสร้างฟิวชันโปรตีนในระดับอะตอมโดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนไครโอเจนิกของศูนย์จุลทรรศน์และการวิเคราะห์อนุภาคไวรัสของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย

การเข้าใจโครงสร้างและวิธีการเข้าสู่เซลล์ของไวรัสแลงยาถือเป็นขั้นตอนสำคัญของการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันและยาต้านไวรัสเพื่อการรักษาต่อสู้กับการติดเชื้อไวรัสแลงยา ไวรัสโม่เจียง ไวรัสนิปาห์ และไวรัสเฮนดรา ในตระกูลของ Paramyxoviridae
“ขณะนี้ยังไม่มีการรักษาหรือวัคซีนสำหรับไวรัสกลุ่มนี้ และพวกมันมีศักยภาพสูงที่องค์การอนามัยโลกให้เฝ้าติดตามการระบาดในวงกว้าง”

ศาสตราจารย์ แดเนียล วัตเตอร์สัน (Daniel Watterson) นักวิจัยอาวุโสในโครงการ กล่าวว่าพวกเขาพบว่าโครงสร้างฟิวชันโปรตีนในส่วนหนามของไวรัสแลงยา เหมือนกับไวรัสโม่เจียง และคล้ายคลึงกับไวรัสเฮนดราและไวรัสนิปาห์ แต่มีความแตกต่างกันในแง่ของแอนติเจนกับไวรัสเฮนดราและไวรัสนิปาห์ ทำให้วัคซีนที่พัฒนาต่อไวรัสแลงยาอาจไม่ครอบคลุมป้องกันการติดเชื้อไวรัสเฮนดรา และไวรัสนิปาห์ได้

“ไวรัสเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดโรคร้ายแรงที่มีโอกาสที่จะควบคุมไม่ได้หากเราไม่เตรียมพร้อมอย่างเหมาะสม” ดร. วัตเตอร์สันกล่าว

“เราได้เห็นว่าโลกไม่ได้เตรียมตัวอย่างไรสำหรับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนั้นเราต้องเตรียมพร้อมมากกว่านี้สำหรับการระบาดครั้งต่อไปของโรคอุบัติใหม่”

ในตอนนี้ทีมวิจัยเร่งศึกษาส่วนหนามเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาวัคซีนที่สามารถใช้ฉีดป้องกันไวรัสสายพันธุ์ย่อยได้ทั้งหมด (broad-spectrum vaccine) รวมทั้งการพัฒนายาต้านไวรัสเพื่อการรักษาโรคติดเชื้อไวรัส แลงยา, โม่เจียง, นิปาห์, และเฮนดราของตระกูล Paramyxoviridae

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม