หน้าแรก > เศรษฐกิจ

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวสุนทรพจน์ ในการประชุม พัฒนาเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) กับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของไทย

วันที่ 28 มิถุนายน 2566 เวลา 23:33 น.


ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวสุนทรพจน์ ในการประชุม พัฒนาเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) กับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของไทย

(28 มิ.ย.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุม The China (Guangdong)-Thailand Economic and Trade Cooperation Conference พร้อมกล่าวสุนทรพจน์ ณ โรงแรมแชงกรี-ลา เขตบางรัก

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า มณฑลกวางตุ้งและประเทศไทยมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดมายาวนาน โดยเฉพาะมณฑลกวางตุ้งเป็นภูมิลำเนาของพี่น้องชาวจีนโพ้นทะเลส่วนใหญ่ที่ได้เข้ามาตั้งรกรากและนำมาซึ่งความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ มณฑลกวางตุ้งยังเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยมีมูลค่าการค้ากับไทยมากที่สุดในจีน คิดเป็นร้อยละ 24.5 หรือประมาณ 1 ใน 4 ของมูลค่าการค้าไทย-จีนทั้งหมด และการส่งออกผลไม้ของไทยไปจีนร้อยละ 60 ดำเนินการผ่านตลาดที่นครกวางโจว ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของยุทธศาสตร์ที่ได้มีการกำหนดให้มณฑลกวางตุ้งเป็นพื้นที่สำหรับการปฏิรูปและการเปิดประเทศ มีบทบาทที่โดดเด่นในการสร้างสรรค์ความทันสมัยและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศจีนยุคใหม่

การสัมมนาฯ ในวันนี้ มุ่งเน้นการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยและมณฑลกวางตุ้ง โดยการร่วมกันส่งเสริมความเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาของเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า Greater Bay Area หรือ GBA กับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของไทย ซึ่งถือเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจไทยอย่างยิ่ง โดยมีการเน้นการส่งเสริมโครงการลงทุนทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมสมัยใหม่ E-Commerce การประมง การเกษตร การท่องเที่ยว วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงการเงินและตลาดทุนซึ่งการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ GBA และ EEC นี้ นับเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจความร่วมมือระหว่างประเทศจีนและไทยในแบบ วิน-วิน หรือ “Win-Win Cooperation” ตามวิสัยทัศน์ผู้นำประเทศจีน ที่เน้นการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันบนพื้นฐานของความเท่าเทียม การเคารพซึ่งกันและกัน และการยึดมั่นในแนวทางการพัฒนาอย่างสันติ เชื่อมั่นว่าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า Greater Bay Area โดยเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนากับ EEC ของไทย จะเป็นการดำเนินการที่ตอบโจทย์ตามแนวคิดความร่วมมือแบบวิน-วิน และจะนำมาซึ่งประโยชน์ของทั้งสองประเทศ

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร มีความพร้อมและมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจในระดับเมืองกับเมืองในประเทศจีนเป็นอย่างมาก โดยกรุงเทพมหานครได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องกับเมืองในประเทศจีนมากถึง 11 เมือง ซึ่งรวมถึงเมืองสำคัญในมณฑลกวางตุ้งจำนวน 3 เมือง ได้แก่ นครกวางโจว นครเสิ่นเจิ้น และเมืองแต้จิ๋ว ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดสนิทสนมนี้ ได้นำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ในด้านต่าง ๆ ทั้งในระดับผู้บริหารเมือง ภาคธุรกิจ และประชาชน ในโอกาสนี้​กรุงเทพมหานครมีความยินดีและขอเชิญชวนนักลงทุนชาวจีนทุกท่าน ให้มาลงทุนในกรุงเทพมหานคร​ในด้านต่าง ๆ ซึ่งกรุงเทพมหานครพร้อมที่จะดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนชาวจีนทุกท่านอย่างเต็มความสามารถ ขอให้การสัมมนาความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าจีน (กวางตุ้ง) – ไทย ในวันนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีสำหรับทุกฝ่าย สร้างความประทับใจกับประสบการณ์ในการมาเยือน สร้างความสุขตลอดการพำนักอยู่ในกรุงเทพมหานคร และขอให้ความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการค้าระหว่างจีนและไทยมีความใกล้ชิด แน่นแฟ้นและแข็งแกร่งยิ่ง ๆ ขึ้นไปดังความสัมพันธ์ที่ว่า “จีน–ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”

ทั้งนี้ การประชุม China (Guangdong)-Thailand Economic and Trade Cooperation Conference จัดขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00 – 11.00 น ณ โรงแรมแชงกรี -ลา เขตบางรัก  โดยมี เลขาธิการโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง เข้าร่วมกล่าวสุนทรพจน์ และมีนายหวัง เว่ยจง รองเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนมณฑลกวางตุ้งและผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง นายฮัน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจครั้งแรกที่มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในประเทศไทย หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างมณฑลกวางตุ้งและประเทศไทย และส่งเสริมการพัฒนาที่มีความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area: GBA) และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) (The Eastern Economic Corridor: EEC) โดยจะมีการลงนามข้อตกลงทางธุรกิจระหว่างภาคเอกชนของมณฑลกวางตุ้งและไทย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 220 คน

 

 

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม