วันที่ 26 มิถุนายน 2566 เวลา 23:40 น.
สถาบันยุวทัศน์ฯ-สสส. เปิดผลสำรวจพฤติกรรมเยาวชนต้องโทษคดียาเสพติด เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ประจำปี 2566 ชี้ “บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ต้นทางสู่ยาเสพติด” เยาวชนใช้บุหรี่เป็นสารเสพติดชนิดแรกสูงถึง 80.7% น่าห่วง 76% พัฒนาไปใช้ยาเสพติด ใช้กัญชา กระท่อมสูงสุด ตามด้วย ยาบ้า ยาไอซ์ ยาอี
วันที่ 26 มิ.ย. 2566 สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ต้นทางสู่ยาเสพติด” เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ประจำปี 2566
โดยนายสุรเชษฐ์ โพธิ์แสง รองเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ได้รับความร่วมมือจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ในการเก็บข้อมูลพฤติกรรมทางสุขภาพของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 39 แห่งทั่วประเทศ เกี่ยวกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนก่อนต้องโทษคดียาเสพติด 300 คน อายุเฉลี่ย 17 ปี เป็นเพศชาย 289 คน เพศหญิง 11 คน พบเคยสูบบุหรี่มวน 95.4% ในจำนวนนี้สูบทุกวัน 84.5% และเคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 79.3% ในจำนวนนี้สูบทุกวัน 30.5%
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า เมื่อจัดลำดับสารเสพติดที่ใช้ พบว่า 80.7% เริ่มใช้บุหรี่มวนเป็นสารเสพติดชนิดแรก และมี 76% พัฒนาไปสู่การใช้ยาเสพติดอื่นๆ โดยยาเสพติดที่นิยมมากที่สุดคือ ยาเสพติดประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน กัญชา กระท่อม 45.1% รองลงมาคือ ยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท ยาบ้า (แอมเฟตามีน) ไอซ์ ยาอี 40.5% ยาเสพติดประเภทกดประสาท ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน สาระเหย 8.9% และยาเสพติดประเภทหลอนประสาท เช่น แอลเอสดี (LSD) เห็ดขี้ควาย สารระเหย 5.5%
“ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนที่ต้องโทษคดีเกี่ยวกับยาเสพติด มีความสัมพันธ์กับบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และแอลกอฮอล์ มาอย่างต่อเนื่อง เด็กและเยาวชนที่เข้าถึงการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ตั้งแต่อายุยังน้อย จะเปลี่ยนมาเป็นทั้งผู้เสพและผู้ขายยาเสพติดในอนาคตด้วย ทำให้การปราบปรามยาเสพติดอาจมีความยากลำบากมากขึ้น เนื่องในโอกาสวันต่อต้านยาเสพติด ประจำปี 2566 นี้ จึงขอเรียกร้องไปยังทุกส่วนราชการที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการป้องกันหรือปราบรามยาเสพติด ขอให้ทุกส่วนร่วมกันรณรงค์ป้องกันเด็กและเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ทุกชนิด บังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น และที่สำคัญไม่ปรับแก้กฎหมายเพิ่มผลิตภัณฑ์เสพติดชนิดใหม่อย่างบุหรี่ไฟฟ้าด้วย” นายสุรเชษฐ์ กล่าว
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน