หน้าแรก > สังคม

ผู้ได้สิทธิบัตรสวัสดิการที่ผ่านคุณสมบัติรอบแรก รีบยืนยันตัวตน ที่ธนาคาร ภายใน 26 มิ.ย. นี้ รักษาสิทธิวงเงินใช้จ่ายเดือนละ 300 บาท ย้อนหลัง 3 เดือน ช้ากว่านั้น รับเฉพาะวงเงินรายเดือนปกติ ด้านผู้ผ่านคุณสมบัติรอบอุทธรณ์ยืนยันตัวตนภายใน 26 ก.ย.66

วันที่ 23 มิถุนายน 2566 เวลา 09:00 น.


วันที่ 23 มิถุนายน 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  ตามที่กระทรวงการคลังได้ประกาศรายชื่อและเปิดให้ผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ดำเนินการยืนยันตัวตนที่ธนาคาร 3 แห่งนั้น ผู้ผ่านคุณสมบัติยังยืนยันตัวตนได้ตลอด โดยการดำเนินการที่ธนาคารกรุงไทยไม่มีกำหนดสิ้นสุด แต่ส่วนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินจะเปิดให้ยืนยันตัวตนถึงวันที่ 27 ส.ค. 66 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของผู้ผ่านคุณสมบัติตั้งแต่รอบแรกซึ่งกระทรวงการคลังเริ่มให้ยืนยันตัวตนมาตั้งแต่เดือนมี.ค. 66 เป็นต้นมานั้น หากยืนยันตัวตนภายในวันที่ 26 มิ.ย. 66 นี้ จะยังได้รับสิทธิวงเงินสำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่ร้านธงฟ้าเดือนละ 300 บาท ย้อนหลังตั้งแต่เดือน เม.ย.-พ.ค. ทำให้ผู้ที่จะเริ่มใช้สิทธิตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2566 จะได้รับวงเงินส่วนนี้ทั้งสิ้น 1,200 บาท  แต่หากยืนยันตัวตนหลังจากนั้น คือ ตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. 66 ซึ่งจะเริ่มใช้สิทธิตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.66 เป็นต้นไป จะไม่ได้รับสิทธิวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคย้อนหลัง แต่จะได้รับเฉพาะวงเงินปกติตามสิทธิของเดือนที่เริ่มใช้สิทธิเท่านั้น

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ทางด้านผู้ผ่านคุณสมบัติรอบอุทธรณ์ ซึ่งกระทรวงการคลังได้ประกาศผลและเริ่มให้ทยอยยืนยันตัวตนได้ตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย. 66 เป็นต้นมา จำนวน 26,696 รายนั้น หากยืนยันตัวตอนภายในวันที่ 26 มิ.ย. 66 นี้ก็จะได้สิทธิวงเงินค้าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคย้อนหลัง 3 เดือนเช่นเดียวกัน และหากยืนยันตัวตนหลังจากนี้ไปจนถึง 26 ก.ย.66 จะยังได้รับสิทธิในวงเงินค่าสินค้าอุปโภคบริโภคย้อนหลังอยู่ แต่หากดำเนินการหลังจากนั้น คือตั้งแต่ 27 ก.ย. 66 เป็นต้นไปจะไม่ได้รับวงเงินย้อนหลัง แต่ได้รับเฉพาะวงเงินปกติตามสิทธิของเดือนที่เริ่มใช้สิทธิเท่านั้น
สำหรับวิธีการยืนยันตัวตน ผู้ผ่านคุณสมบัติต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดไปยืนยันตัวตนที่ธนาคาร เมื่อยืนยันตัวตนเสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถตรวจสอบสถานะการยืนยันตัวตนของตนเองผ่านทางเว็บไซต์ https://xn--12cm1ane3a8dcb9a6abq9eehm8a4u7e.mof.go.th/ หรือ https://welfare.mof.go.th หรือติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่หน่วยงานรับลงทะเบียนทั้ง 7 หน่วยงาน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กรณีผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติที่ไม่สามารถดำเนินการยืนยันตัวตนได้ด้วยตนเอง อาทิ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางได้ สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมายืนยันตัวตนแทนได้ โดยใช้เอกสาร 1. บัตรประจำตัวประชาชนผู้ได้รับสิทธิ 2. หนังสือมอบอำนาจการยืนยันตัวตน (ดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของโครงการฯ) 3. บัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ 4. บัตรประจำตัวคนพิการ (ถ้ามี) หรือใบรับรองแพทย์ (ถ้ามี) 5. ใบสำคัญการหย่าหรือ ใบมรณบัตร หรือหนังสือรับรองการตาย หรือทะเบียนบ้านที่มีการจำหน่ายตาย (เฉพาะผู้ผ่านเกณฑ์แบบมีเงื่อนไขที่ได้ยื่นเอกสารหนังสือประกอบการพิจารณา กรณีผู้ลงทะเบียนไม่สามารถติดตามคู่สมรสมาเพื่อดำเนินการหย่าตามกฎหมายได้)

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม