หน้าแรก > สังคม

'พล.ต.อ.อดุลย์' ปธ.กมธ.แรงงาน วุฒิสภา เร่งปรับกฎหมายแรงงาน ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน

วันที่ 22 มิถุนายน 2566 เวลา 11:48 น.


วันที่ 22 มิถุนายน 2566 พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา เรื่อง “ประมวลกฎหมายแรงงานไทย พลิกโฉมทันยุคสู่สากล ครั้งที่ 2” เพื่อเปิดเวทีประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็น รวมทั้งข้อเสนอแนะต่อการพิจารณาศึกษา แนวทางการจัดทำร่างประมวลกฎหมายแรงงานจากทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้อง ศึกษาและวิเคราะห์ แนวทางที่เหมาะสม 

ในการพิจารณาศึกษาและการทำร่างประมวลกฎหมายแรงงานในระยะต่อไป และเพื่อรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะประกอบการจัดทำรายงานของคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา โดยมีภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง นักวิชาการด้านแรงงาน ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย ตลอดจนอาจารย์และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนา ในครั้งนี้ ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 3 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ปัจจุบันพัฒนาการของสังคมในมิติด้านการทำงานนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกสังคมตั้งแต่อดีตเรื่อยมา และมีรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย ขณะเดียวกันภาครัฐก็ได้มีการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานหรือการแรงงาน ออกมาใช้บังคับในสังคมเฉพาะเรื่องตามความเหมาะสมของแต่ละยุคสมัยเรื่อยมาเช่นกัน ซึ่งการตรากฎหมายเรื่องเดียวกันขึ้นใช้บังคับมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจนำไปสู่การมีกฎหมายมากเกินความจำเป็น

โดยเฉพาะการมีกฎหมายเรื่องเดียวกันกระจัดกระจายอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ ย่อมเป็นที่มาของปัญหาความไร้ระบบระเบียบของกฎหมาย ไม่สะดวกต่อการบังคับใช้ การศึกษาอ้างอิง และสำคัญที่สุด คือ สภาพดังกล่าว ย่อมทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงตัวบทกฎหมายได้โดยสะดวกและทำความเข้าใจกฎหมายได้ยาก ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ต้องการให้รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวก และสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่าย เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า ผลจากการจัดสัมมนาในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการจัดระบบกฎหมายว่าด้วยการแรงงานที่กระจัดกระจายอยู่ในปัจจุบันจำนวน 13 ฉบับ เป็น 1 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 1,146 มาตรา ให้เหลือเพียง 510 มาตรา เป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน เพื่อให้มีเนื้อหาสั้น กระชับชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อภาคแรงงาน ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ เป้าหมายหลักเพื่อให้แรงงานได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม

สำหรับขั้นตอนภายหลังที่คณะกรรมาธิการ ได้พิจารณาศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะต่อแนวทางการจัดทำร่างประมวลกฎหมายแรงงานเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะจัดทำรายงานเสนอต่อวุฒิสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยมีร่างประมวลกฎหมายแรงงานที่จัดทำขึ้นนี้เป็นภาคผนวก และจัดส่งไปยังรัฐบาลต่อไป


 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม