วันที่ 18 มิถุนายน 2566 เวลา 21:22 น.
18 มิ.ย. 2566 พญ.วีรวรรณ ฉัตรตรัสตรัย แพทย์รังสีวินิจฉัย รพ.เวชธานี กล่าวถึงโรคมะเร็งเต้านมว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากในผู้หญิง แต่ผู้ชายก็พบได้ เพียงแต่พบไกด้น้อยมาก โดย 100 คน เป็นผู้หญิง 99% และเป็นผู้ชายน้อยกว่า 1% อย่างไรก็ตาม เริ่มมีข้อมูลจากต่างประเทศที่รายงานพบว่า กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ หรือเพศเดิมที่เป็นชายแล้วผ่าตัดแปลงเพศเป็นผู้หญิง พบว่า มีแนวโน้มเป็นมะเร็งเต้านมมากว่าผู้ชายทั่วไปถึง 46 เท่า แต่ข้อมูลยังไม่ชัดเจนมาก คงต้องมีการเก็บข้อมูลในเรื่องนี้ต่อไป แต่ปัจจัยหลักๆ ที่เชื่อว่าทำให้เกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงข้ามเพศ ต้องอธิบายก่อนว่า โดยปกติแล้วเพียงแค่เป็นผู้หญิงก็มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว เนื่องจากมีฮอร์โมนเอสโตรเจน ยิ่งมีประวัติว่าแม่หรือพี่สาว หรือครอบครัวที่ใกล้ชิดเป็นมะเร็งเต้านมก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง ดังนั้น หญิงข้ามเพศที่มีการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนมานานจึงเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ชายทั่วไป
ถามว่าผู้หญิงข้ามเพศควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเหมือนผู้หญิงทั่วไปด้วยหรือไม่ พญ.วีรวรรณกล่าวว่า ผู้ที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม คือ ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรมาตรวจแมมโมแกรมปีละครั้ง ส่วนกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติครอบครัวเคยเป็นมะเร็งเต้านม ฉายแสงที่หน้าอกควรมาตรวจคัดกรองก่อนอายุ 40 ปี ส่วนผู้หญิงข้ามเพศหากมีการใช้ฮอร์โมนมานานกว่า 5 ปี อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ก็อาจมาตรวจทุก 2 ปีครั้ง ส่วนผู้หญิงที่ให้นมบุตรจะมีความเสีย่งลดน้อยลง เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีความเสี่ยงเลย
ถามว่าการตรวจด้วยการคลำเต้านมด้วยตัวเองยังมีประโยชน์หรือไม่ หรือควรตรวจแมมโมแกรมเพียงอย่างเดียว พญ.วีรวรรณกล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกา ประชาชนมีความรู้เรื่องนี้ค่อนข้างมาก การตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองก็ถือว่ายังมีประโยชน์อยู่ อย่างไรก็ตาม บางประเทศก็บอกว่ายังมีประโยชน์ บางประเทศบอกว่าไม่จำเป็นแล้ว แต่ตนมองว่าสำหรับประเทศไทยในกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงแมมโมแกรม เนื่องจากคิวยาว การตรวจคลำด้วยตนเองก็ยังมีประโยชน์อยู่ แต่การตรวจคลำด้วยตนเองควรเริ่มตั้งแต่เนิ่นๆ สอนกันตั้งแต่อายุน้อย ตรวจคลำบ่อยๆ เพื่อให้ชินกับการตรวจคลำลักษณะของเต้านมตัวเอง ว่ามีลักษณะอย่างไร เพราะความหนาแน่นของเนื้อเต้านมแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนก็คลำแล้วรู้สึกว่าเป็นก้อนแข็งๆ ไปหมด ดังนั้น การที่เราตรวจคลำบ่อยๆ จนรู้ลักษณะเต้านมตนเอง หากมีอะไรผิดปกติก็จะทราบได้อย่างรวดเร็ว ส่วนกรณีที่ว่าให้สามีช่วยตรวจได้หรือไม่ ก็พบว่าจากประสบการณ์หลายคนก็พบความผิดปกติจากการที่สามีช่วยคลำ
ด้าน พญ.จรัลภา วัฒนกิจไกรเลิศ ศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยาและโรคของเต้านม รพ.เวชธานี กล่าวว่า การผ่าตัดเสริมเต้านมในหญิงข้ามเพศ ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม สิ่งที่เพิ่มความเสี่ยงคือการใช้ฮอร์โมนมากกว่า โดยเฉพาะการรับประทานยาคุมนานเกิน 5 ปี สำหรับการรักษามะเร็งเต้านมนั้น หากเรารู้เร็วการรักษาให้หายขาดย่อมมีโอกาสสูง ดังนั้น ยิ่งตรวจคัดกรองเป็นประจำเมื่อพบมะเร็งตั้งแต่ระยะที่ 1 สามารถใช้การผ่าตัดรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้ยาเคมีบำบัด อาจจะมีเพียงการกินยาลดฮอร์โมนร่วมด้วยเท่านั้น ซึ่งทุกวันนี้การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมมีการพัฒนาขึ้นมาก จากเดิมที่ต้องตัดทั้งเต้านมตัดทั้งต่อมน้ำเหลือง ก็มีการพัฒนาไปมาก เช่น ตัดทั้งเต้าเก็บไว้เพียงหัวนม , เก็บผิวหนังเต้านมบางส่วน หรือทุกวันนี้ก็สามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้ โดยตัดเฉพาะก้อนมะเร็งออก รวมถึงพิจารณาตัดเฉพาะส่วนของต่อมน้ำเหลืองที่รับผลกระทบเท่านั้น
สำหรับการตัดเต้านมออกทั้งหมดเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านมนั้น ป้องกันไม่ได้ทั้งหมด คือ ป้องกันได้เพียง 95% ทุกคนไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกก่อนเพื่อป้องกัน แต่อาจทำในคนที่มีความเสี่ยงสูง อย่างกรณีแองเจลินา โจลี ที่เชื้อชาติมีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งเต้านมอยู่แล้ว และตรวจพบยีนที่มีความเสี่ยง จึงตัดสินใจผ่าตัดออก สำหรับการผ่าตัดมะเร็งเต้านมทุกวันนี้ไม่น่ากังวลมาก ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีการเสริมเต้านมจากซิลิโคนที่ทุกวันนี้มีการพัฒนาไปมาก ก็ช่วยเสริมความมั่นใจหลังผ่าตัดได้เช่นกัน