วันที่ 12 มิถุนายน 2566 เวลา 23:07 น.
สสส. สถาบันยุวทัศน์ ฯ สานพลังความร่วมมือสถานศึกษา 11 แห่ง ขับเคลื่อนลดอุบัติเหตุทางถนน จ.แม่ฮ่องสอน กวดขันหมวกนิรภัย 100%- หลักสูตรการขับขี่-ส่งเสริมบุคลากรต้นแบบความปลอดภัย-ดื่มไม่ขับ-ป้องกันการดัดแปลงรถ จยย. ตั้งเป้าลดอุบัติเหตุเป็นศูนย์ภายใน 1 ปี
ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน จ.แม่ฮ่องสอน ร่วมกับองค์การบริหารส่วน จ.แม่ฮ่องสอน และสถานศึกษา มหาวิทยาลัย นำร่อง 11 สถานศึกษา โดยโครงการเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ซึ่งมีสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.)เป็นหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนและขยายผลการสร้างเครือข่ายกลุ่มเด็กและเยาวชนเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสานต่อความสำเร็จ “ระยองโมเดล” ลดอัตราการเสียชีวิตของนักศึกษาเป็นศูนย์ภายใน 1 ปี
นายอัครเดช วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วน จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า อบจ.แม่ฮ่องสอน ให้ความสำคัญต่อปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มเด็ก และเยาวชน เนื่องจากปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมในหลายมิติ เช่น มิติคุณภาพชีวิตของประชาชน มิติด้านสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เมื่อปี 2565 ได้ออกประกาศ อบจ.แม่ฮ่องสอน เรื่องมาตรการส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนของโรงเรียนในสังกัด และประกาศมาตรการส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนในสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มุ่งเน้นการทำงานอย่างบูรณาการ 4 ด้าน
1. กวดขันการสวมหมวกนิรภัย 100% ของนักเรียน นักศึกษา ทั้งสถานศึกษาที่อนุญาตให้นำรถจักรยานยนต์มาโรงเรียน และสถานศึกษาที่ไม่อนุญาตให้นำรถจักรยานยนต์มาแต่มีผู้ปกครองเดินทางรับ-ส่ง
2. จัดให้มีการเรียนรู้หรือกิจกรรมเสริมหลักสูตรด้านความปลอดภัยทางถนน และทักษะการขับขี่รถจักรยานยนต์ของนักเรียน นักศึกษา
3. ขอความร่วมมือให้ผู้อำนวยการสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา เป็นต้นแบบพฤติกรรมดื่มไม่ขับ ข้ามทางม้าลาย และใช้หมวกนิรภัย
4.ป้องกันการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพรถจักรยานยนต์ของนักศึกษาให้มีความสมบูรณ์พร้อมใช้งานต่อเนื่อง
ปี 2565 จ.แม่ฮ่องสอน มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 53 คน มีผู้บาดเจ็บ 3,643 คน และในจำนวนอุบัติเหตุทั้งหมดเป็นเด็ก และเยาวชนอายุระหว่าง 1-24 ปี ถึง 47.79% คิดเป็นเกือบครึ่งของจำนวนอุบัติเหตุทั้งหมด จึงมีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะส่งผลทำให้การลดอุบัติเหตุทางถนนของนักเรียน นักศึกษา มีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนใน จ.แม่ฮ่องสอนระยะยาวอีกด้วย นายอัครเดช กล่าว
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า ยท.โครงการเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ได้นำแนวทาง และมาตรการของ “ระยองโมเดล” ที่ทำงานประเด็นการลดอุบัติเหตุทางถนนมาขยายผลต่อใน จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งในปี 2565 จ.ระยอง ประสบผลสำเร็จ จากการขับเคลื่อนลดอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน ส่งผลให้มีอัตราการเสียชีวิตของนักศึกษาอาชีวศึกษาใน จ.ระยองเป็นศูนย์ ความร่วมมือใน จ.แม่ฮ่องสอนในครั้งนี้ประกอบไปด้วย อบจ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งจะเป็นศูนย์จัดการประสานความร่วมมือ ติดตามผลการดำเนินงาน และสถานศึกษา 11 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน) วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีแม่ฮ่องสอน วิทยาลัยการอาชีพแม่สะเรียง รร.ห้องสอนศึกษาในพระอุปถัมภ์ รร.เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน รร.ขุนยวมวิทยา รร.แม่ลาน้อยดรุณสิกข์ รร.แม่สะเรียงบริพัตรศึกษา รร.สบเมยวิทยาคม รร.ปางมะผ้าพิทยาสรรพ์ และ รร.ปายวิทยาคาร ครอบคลุมทุกอำเภอใน จ.แม่ฮ่องสอน
“สำหรับมาตรการและแนวทางที่จะขับเคลื่อนในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน 5 มาตรการ ดังนี้
1. มาตรการด้านการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสถานีตำรวจภูธรทุกพื้นที่ รวมถึงการบังคับใช้กฎระเบียบของสถานศึกษาว่าด้วยความประพฤติของนักศึกษา 2. ประกาศนโยบายสถานศึกษาปลอดภัย (Safety School)
3. พัฒนาและสร้างองค์ความรู้ อบรมฝึกทักษะการขับขี่รถจักรยานยนต์
4. กิจกรรมส่งเสริมให้นักศึกษามีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์
5. มาตรการด้านสภาพแวดล้อม อาทิ ศึกษาจุดเสี่ยงโดยรอบสถานศึกษา ส่งเรื่องให้หน่วยงานในพื้นที่ร่วมแก้ไขปรับปรุง ส่งเสริมให้ใช้หมวกนิรภัย 100%” นายพชรพรรษ์ กล่าว